วันพฤหัสบดีที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553

การปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์






ประวัติการปกครองของไทยสมัยกรุงรัตนโกสินทร์


เมื่อ สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกปราบการจลาจลที่เกิดขึ้นในปลายรัชกาลสมเด็จ พระเจ้าตากสินมหาราช จนบ้านเมืองอยู่ในความสงบเรียบร้อย พวกขุนนางข้าราชการและราษฎรทั้งหลายจึงเห็นพ้องต้องกันในการอัญเชิญสมเด็จ เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ปราบดาภิเษกขึ้นครองราชย์สมบัติในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ.2325 พระนามที่ปรากฏในพระสุพรรณบัฏ คือ “สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ” ส่วนพระนาม “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”นั้น เป็นพระนามที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงถวาย นับว่าพระองค์เป็นปฐมกษัตริย์ในพระบรมราชจักรีวงศ์


พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


พระ บาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเป็นพระมหากษัตริย์องค์แรกแห่งราชวงศ์จักรี มีพระนามเดิมว่า ทองด้วง ประสูติเมื่อวันพุธแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีมะโรง พ.ศ. 2279 เป็นบุตรคนที่ 4 ของหลวงพินิจอักษร ซึ่งสืบเชื้อสายมาจากเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) และเจ้าแม่วัดดุสิต ซึ่งเป็นพระนมในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
เมื่อพระ ชนมายุได้ 21 ปี ทรงผนวชอยู่ที่วัดมหาทะลาย เมื่อลาสิกขาบทออกมาได้เข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กของพระเจ้าอุทุมพร เมื่อพระชนมายุได้ 24 พรรษา ทรงดำรงตำแหน่งเป็นหลวงยกกระบัตรเมืองราชบุรี ต่อมาได้แต่งงานกับนางสาวนาค พระชนมายุได้ 32 พรรษา ได้เข้ามารับราชการในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงดำรงตำแหน่งเป็นพระราชวรินทร์ เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา ต่อมาได้เลื่อนตำแหน่งเป็นพระยาอภัยรณฤทธิ์ เป็นพระยายามราชและเป็นเจ้าพระยาจักรี
ใน พ.ศ. 2320 ได้รับความดีความชอบที่ไปปราบหัวเมืองลาวได้ จึงได้รับพระราชทานตำแหน่งสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก และใน พ.ศ.2525 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระบรมราชาธิราชรามาธิบดีฯ หรือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงครองราชย์อยู่ 28 ปี เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคชรา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2352 มีพระชนมายุได้ 74 พรรษา ถึงสมัยรัชกาลที่ 9 ทรงได้รับพระราชสมัญญาเป็น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
ขณะ เมื่อพระองค์ได้สถาปนาขึ้นเป็นองค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ช่วงระยะเวลานั้นได้สืบเนื่องมาจากการเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 และการรบพุ่งกันมากในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บ้านเมืองทรุดโทรมเสียหายมาก ดังนั้นพระองค์จึงต้องฟื้นฟูบ้านเมืองโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูอำนาจของ อาณาจักรไทยขึ้นมาใหม่ ทั้งทางการเมืองและวัฒนธรรม โดยสืบทอดงานต่อจากสมัยของพระเจ้ากรุงธนบุรีซึ่งมีระยะเวลาค่อนข้างสั้น เช่น การฟื้นฟูอำนาจทางการเมือง ได้แก่ สถาปนาศูนย์กลางอันมั่นคงของอาณาจักร เช่น การสร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในอาณาจักร การทำศึกสงครามป้องกันเอกราชของประเทศ การขยายอำนาจและการรักษาอิทธิพลของไทยในเขตประเทศราช การฟื้นฟูความเจริญวัฒนธรรม เช่น ขนบธรรมเนียมราชประเพณีต่างๆ การฟื้นฟูศาสนา การฟื้นฟูระบอบการปกครองและกฎหมาย การฟื้นฟูศิลปกรรมต่างๆ ซึ่งรัชกาลที่ 1 ทรงเป็นผู้วางรากฐานการฟื้นฟูเหล่านี้ไว้ และรัชกาลที่ 2 และ 3 ทรงประสานงานต่อมา สำหรับนโยบายการรักษาเอกราชความมั่นคงประเทศนั้น นอกจากจะต้องทำสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านที่ต้องการรุกรานไทยแล้ว ไทยยังต้องดำเนินนโยบายทางการทูตอย่างระมัดระวังกับประเทศมหาอำนาจตะวันตก ที่เริ่มเข้ามาติดต่ออย่างใกล้ชิดกับไทยด้วย


การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี


หลัง จากที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบจลาจลภายในกรุงธนบุรีและสร้างความมั่นคงภายในประเทศแล้ว พระองค์ทรงย้ายราชธานีจากกรุงธนบุรีซึ่งอยู่ทางฝั่งตะวันตกมายังฝั่งตะวัน ออกของแม่น้ำเจ้าพระยาและตั้งชื่อใหม่ว่ากรุงเทพฯ ทั้งนี้เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ คือ
1. พระราชวังเดิมของกรุงธนบุรีคับแคบ มีวัดขนาบอยู่ทั้ง 2 ด้าน คือ วัดแจ้ง (วัดอรุณราชวราราม) และวัดท้ายตลาด (วัดโมลีโลกยาราม) ทำให้ไม่สามารถขยายอาณาเขตของพระราชวังให้กว้างขวางขึ้นได้
2. พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยที่จะให้พระนครแบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาผ่ากลางเป็นเสมือนเมืองอกแตก ดังเช่น เมืองพิษณุโลก สุพรรณบุรี เพราะหากข้าศึกยกทัพมาตามลำน้ำ ก็สามารถบุกตีใจกลางเมืองหลวงได้ ทำให้ยากแก่การป้องกันพระนคร ครั้นจะสร้างป้อมปราการทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำ ก็จะเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองมาก ทำให้ยากแก่การเคลื่อนพลจากฝั่งหนึ่งไปยังอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งเป็นการยากลำบากมาก ดังนั้นพระองค์จึงย้ายพระนครมาอยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาเพียง แห่งเดียว โดยมีแม่น้ำเป็นคูเมืองทางด้านตะวันตก และใต้ ส่วนทางด้านตะวันออกและทางด้านเหนือ โปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองขึ้นเพื่อเป็นคูเมืองป้องกันพระนคร
3. พื้นที่ทางฝั่งตะวันออกเป็นที่ราบลุ่ม สามารถขยายเมืองให้กว้างขวางออกไปได้เรื่อยๆ ตรงบริเวณที่ตั้งพระนครพื้นที่เป็นแหลม โดยมีแม่น้ำเป็นกำแพงกั้นอยู่เกือบครึ่งเมือง
4. ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่เป็นท้องคุ้ง น้ำกัดเซาะตลิ่งพังทลายอยู่เสมอ จึงไม่เหมาะแก่การสร้างอาคารหรือถาวรวัตถุใดๆ ไว้ริมฝั่งแม่น้ำ
พระบาท สมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีรับสั่งให้สร้างเมืองใหม่ทางฝั่งตะวัน ออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่บริเวณหัวโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา คือ บริเวณพระบรมมหาราชวังในปัจจุบัน พระราชทานนามเมืองใหม่นี้ว่า “กรุงเทพมหานครบวรรัตนโกสินทร์ มหินทรายุทธนา มหาดิลกภพนพรัตน์ราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์ มหาสถานอมรพิมาน อวตารสถิต สักกทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์” ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ทรงเปลี่ยนจากคำว่า “บวรรัตนโกสินทร์” เป็น “อมรรัตนโกสินทร์”
ในการสร้างพระมหาบรมราชวัง โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดขึ้นภายในด้วย คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว แล้วให้อัญเชิญพระแก้วมรกตขึ้นประดิษฐาน ทรงพระราชทานนามใหม่ว่า “พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร” เพื่อเป็นสิริมงคลแก่กรุงเทพฯ

การปกครองของไทยสมัยรัตนโกสินทร์


ตั้งแต่ รัชกาลที่ 1-4 มีระเบียบแบบแผนตามแบบสมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์มีอำนาจสูงสุดและเด็ดขาดในการปกครองประเทศ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
1. การปกครองส่วนกลาง มีอัครมหาเสนาบดี 2 ตำแหน่ง คือ สมุหกลาโหมเป็นหัวหน้าฝ่ายทหาร รับผิดชอบกิจการด้านการทหารทั่วประเทศและปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ ส่วนสมุหนายกเป็นหัวหน้าฝ่ายพลเรือน รับผิดชอบกิจการด้านพลเรือนทั้งหมดและปกครองหัวเมืองเหนือ ส่วนหัวเมืองชายทะเลด้านฝั่งตะวันออก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงจัดให้อยู่ในความดูแลของกรมท่า นอกจากตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีทั้ง 2 นี้แล้ว ยังมีเสนาบดีจตุสดมภ์ คือ เสนาบดีกรมเมืองหรือกรมเวียง เรียกว่า “พระนครบาล” เสนาบดีกรมวัง เรียกว่า “พระธรรมาธิกรณ์” เสนาบดีกรมคลัง เรียกว่า “พระโกษาธิบดี” เสนาบดีกรมนา เรียกวา “พระเกษตราธิบดี” จตุสดมภ์ทั้ง 4 อยู่ภายใต้การดูแลของสมุหนายก มีหน้าที่และความรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ เหมือนครั้งสมัยอยุธยาเว้นแต่กรมคลังที่มีหน้าที่ติดต่อกับต่างประเทศอีก ด้วย
2. การปกครองส่วนภูมิภาค แบ่งเขตการปกครองออกเป็น หัวเมือง 3 ประเภท ได้แก่หัวเมืองชั้นใน หรือเมืองจัตวา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ที่อยู่บริเวณรอบๆ เมืองหลวง หัวเมืองชั้นนอก ได้แก่ เมืองพระยามหานครา เมืองเอก โท ตรี ซึ่งอยู่ห่างไกลจากราชธานีออกไป เจ้าเมืองมีอำนาจในการปกครองเมืองอย่างเต็มที่ เพราะอยู่ไกจากราชธานี ส่วนเมืองประเทศราช พระมหากษัตริย์จะแต่งตั้งเจ้าประเทศราชให้ปกครองตนเอง แต่ต้องส่งเครื่องราชบรรณาการให้เมืองหลวง 3 ปีต่อ 1 ครั้ง หรือถ้าเป็นเมืองที่อยู่ใกล้ราชธานี เช่น อุบลราชธานี เขมร ไทยบุรี เชียงใหม่ หลวงพระบาง ต้องส่งปีละครั้ง เมื่อเกิดศึกสงคราม เมืองประเทศราชเหล่านี้ต้องส่งทหารมาช่วยรบทันที หรือในยามปกติอาจเกณฑ์ชาวเมืองประเทศราชมาช่วยให้แรงงานในการปรับปรุงประเทศ
3. การปกครองส่วนท้องถิ่น แบ่งออกเป็น บ้าน ตำบล และแขวงตามลำดับ ซึ่งอาจเทียบได้กับ หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น